บริการงานทะเบียนราษฎร

การแจ้งเกิด

กรณีคนเกิดในบ้าน
ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดา แจ้งต่อนายทะเบียนผู้แจ้งแห่งท้องถิ่นที่ที่มีคนเกิดภายใน 15 วัน นับแต่วันเกิด
กรณีคนเกิดนอกบ้าน
ให้บิดาหรือมารดา แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดนอกบ้าน หรือแห่งท้องที่ที่พึงจะแจ้ง ภายใน 15 วัน นับแต่วันเกิด

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
-
สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
-
บัตรประจำตัวของผู้แจ้ง
-
บัตรประจำตัว หรือสำเนาทะเบียนบ้านของบิดามารดาเด็ก
-
หนังสือรับรองการเกิด (ถ้ามี)
   

* ผู้ใดไม่มาแจ้งการเกิดภายใน 15 วัน นับแต่วันเกิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท *

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง กรณี แจ้งการเกินกำหนดเวลา
-
สำเนาประจำตัว และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ที่รับแจ้ง บิดา หรือมารดาเด็ก
-
ผู้แจ้ง บิดา หรือมารดาเด็กจะต้องมาให้ถ้อยคำบันทึกการสอบสวนด้วยตัวเอง
-
หนังสือรับรองการเกิด (ถ้ามี)

การแจ้งตาย

กรณีคนตายในบ้าน
ให้เจ้าบ้านแจ้งการตายต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง แห่งท้องที่ที่คนตาย ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่วันตาย กรณีไม่มีเจ้าบ้านให้ผู้พบศพแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ
กรณีคนตายนอกบ้าน
ให้บุคคลที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้พบศพ แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีการตายหรือพบศพ แล้วแต่กรณี หรือแห่งท้องที่ที่พึงจะแจ้งได้ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ ในกรณีเช่นนี้จะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจก็ได้

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
-
บัตรประจำตัวของผู้แจ้ง
-
สำเนาทะเบียนบ้าน หรือบัตรประจำตัวของผู้ตาย
-
หนังสือรับรองการตาย หรือหลักฐานการชันสูตรพลิกศพ (ถ้ามี)


* ผู้ใดไม่มาแจ้งการตาย ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย หรือพบศพ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท *

การแจ้งย้ายที่อยู่

กรณีมีผู้ย้ายออกนอกบ้าน
กรณีมีผู้ย้ายออกนอกบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับท้องที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ย้ายออก
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
-
สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่แจ้งการย้ายออก
-
บัตรประจำตัวผู้แจ้ง (เจ้าบ้าน)
กรณีมีผู้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน
กรณีมีผู้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งการย้าย ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ภายใน 15 วัน นับจากวันย้ายเข้า
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
-
สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ต้องแจ้งย้ายเข้า
-
ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ตอนที่ 1 และ 2
-
บัตรประจำตัวผู้แจ้ง (เจ้าบ้าน)
กรณีเจ้าบ้านไม่สามารถมาแจ้งการย้ายด้วยตัวเองได้
-
สามารถให้บุคคลซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และเป็นผู้ดูแลบ้านในขณะนั้น มาแจ้งแทนในฐานะเจ้าบ้านก็ได้ ผู้ดูแลบ้านอยู่ในบ้านจะต้องนำบัตรประจำตัวมาด้วย
-
หากมอบให้บุคคลอื่นซึ่งไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมาแจ้งแทน จะต้องนำบัตรประจำตัวผู้แจ้ง พร้อมหนังสือมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร และบัตรประจำตัวเจ้าบ้านมาแสดง
กรณีแจ้งการย้ายที่อยู่ปลายทาง
กรณีแจ้งการย้ายที่อยู่ปลายทาง ผู้ย้ายที่อยู่จะเป็นผู้แจ้งย้ายออกและย้ายเข้า โดยไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง แห่งท้องที่ที่ย้ายไปอยู่ใหม่ (ปลายทาง) ภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายออกมาก็ได้ โดยเสียค่าธรรมเนียม 5 บาท

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
-
สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ปลายทาง)
-
บัตรประจำตัวผู้แจ้ง
-
คำยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าบ้าน
-
บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน


* เมื่อมีคนในบ้านย้ายออก หรือย้ายเข้า หากเจ้าบ้านไม่แจ้งย้ายที่อยู่ภายใน 15 วัน
นับแต่วันย้ายออก หรือย้ายเข้าแล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท *

การแจ้งเกี่ยวกับบ้าน

การขอมีเลขหมายประจำบ้าน
- ให้ทุกบ้านมีเลขหมายประจำบ้าน บ้านใดยังไม่มีเลขหมายประจำตัวให้เจ้าบ้านแจงต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง เพื่อขอเลขหมายประจำบ้านภายใน 15 วัน นับแต่วันสร้างบ้านเสร็จ (ให้เจ้าบ้านติดเลขหมายประจำบ้านไว้ในที่ซึ่งคนเห็นได้ชัดเจน)
- ผู้ใดรื้อบ้านซึ่งมีเลขประจำบ้าน โดยผู้นั้นประสงค์จะปลูกบ้านในที่ดินนั้นต่อไป หรือรื้อเพื่อปลูกในที่อื่น ในแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันรื้อเสร็จ

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
-
สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
-
บัตรประจำตัวผู้แจ้ง (เจ้าบ้าน)
-
หนังสืออนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร
-
หลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำเนาโฉนดที่ดิน คำยินยอมให้ปลูกสร้างบ้าน สัญญาเช่าที่ดิน


การขอรับสำเนาทะเบียนบ้านฉบับใหม่ เนื่องจากชำรุด หรือสูญหาย
เสียค่าธรรมเนียม ฉบับละ 5 บาท


* ผู้ใดปลูกสร้างบ้านใหม่ หรือรื้อบ้านไม่แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน
นับแต่วันปลูกสร้าง หรือรื้อเสร็จ แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท *

การขอเพิ่มชื่อ และรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน
การเพิ่มชื่อตามหลักฐาน สูติบัตร ให้ยื่นคำร้องแห่งท้องที่ที่ออกสูติบัตร
การเพิ่มชื่อตามหลักฐาน ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ให้ยื่นคำร้องแห่งท้องที่ ที่ประสงค์จะเพิ่มชื่อ
การเพิ่มชื่อตามหลักฐาน ทะเบียนบ้าน ให้ยื่นคำร้องแห่งท้องที่ที่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้าย

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
-
สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
-
บัตรประจำตัวผู้ขอเพิ่มชื่อ
-
หลักฐานที่ใช้ประกอบการขอเพิ่มชื่อ เช่น สูติบัตร ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ และทะเบียนบ้าน
การเพิ่มชื่อกรณีตกสำรวจตรวจสอบทะเบียนราษฏร พ.ศ. 2499 ให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอแห่งท้องถิ่น หรือนายทะเบียนอำเภอแห่งท้องที่ ที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในปัจจุบัน

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
-
สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ปลายทาง)
-
หลักฐานการตรวจสอบชื่อ และรายการบุคคลในทะเบียนบ้านแห่งอื่น จากสำนักทะเบียนกลาง
-
พยานบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าบ้าน และบุคคลที่เชื่อถือได้
-
หลักฐานอื่นๆ (ถ้ามี)
การขอจำหน่ายชื่อและรายการบุคคลออกจากทะเบียนบ้าน กรณีที่บุคคลมีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านเกินกว่าหนึ่งแห่ง

หลักฐานที่นำมาแสดงในการขอมีบัตร
-
สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
-
บัตรประจำตัวผู้ขอจำหน่ายชื่อ
-
หลักฐานที่แสดงว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อซ้ำ
   

* อัตราค่าธรรมเนียม 
การขอคัดและรับรองสำเนารายการในทะเบียนบ้าน เสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 10 บาท *

Share this Post: